วิธีการดูแลลูกสุนัข

Last updated: 28 ธ.ค. 2561  |  736 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วิธีการดูแลลูกสุนัข

วิธีการดูแลลูกสุนัข

เตรียมความพร้อมกับสมาชิกใหม่  

      เพราะลูกสุนัขเป็นวัยที่ต้องการการเอาใจใส่ และดูแลอย่างเป็นพิเศษ การเตรียมความพร้อมของผู้ที่รับลูกสุนัขมาเลี้ยงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เราควรทำความเข้าใจในลักษณะนิสัย ความต้องการ และการตรวจเช็คสุขภาพ ตลอดจนการเลือกสรรอาหารที่มีคุณประโยชน์ และเหมาะสมกับการเจริญเติบโตในวัยเด็กของเค้า เพราะเป็นจุดแรกเริ่มที่ทำให้เจ้าตัวน้อยพร้อมที่จะเติบโตอย่างแข็งแรง ร่าเริง และมีความสุขไปพร้อมๆกับเรา   

Step 1 :  การตรวจสุขภาพลูกสุนัข 

      ลูกสุนัขเมื่อแรกเกิดมักจะได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ผ่านทางนมน้ำเหลืองซึ่งจะค่อยๆลดลงเมื่อลูกสุนัขเข้าสู่ช่วงอายุ 8 -12 สัปดาห์ และจะลดลงจนอยู่ในระดับที่ไม่สามารถป้องกันโรคร้ายแรงต่างๆได้ การได้รับวัคซีนในระยะเวลาที่เหมาะสมก็เป็นการเสริมเกราะป้องกันเค้าจากโรคร้ายแรงต่างๆ ดังนั้นเมื่อแรกรับลูกสุนัข เราควรพาเค้าไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และปรึกษาในเรื่องของการฉีดวัคซีนก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าตัวน้อยจะเติบโตอย่างมีสุขภาพที่แข็งแรง โดยปกติเราสามารถพาลูกสุนัขไปฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์ หรือตั้งแต่ 6 สัปดาห์ หากเค้ามีภูมิคุ้มกันต่ำและอ่อนแอ 

วัคซีนป้องกันโรคติดต่อที่สำคัญสำหรับลูกสุนัข มีดังนี้

โรคหวัดและหลอดลมอักเสบติดต่อ
โรคไข้หัดสุนัข
โรคลำไส้อักเสบติดต่อ
โรคตับอักเสบ
โรคฉี่หนู
โรคพิษสุนัขบ้า 
นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว การป้องกันเห็บหมัด และการถ่ายพยาธิยังเป็นสิ่งสำคัญสำหรับลูกสุนัข เพื่อเป็นการป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจอีกด้วย  

Step 2 : การดูแลขั้นพื้นฐาน และ อุปกรณ์ที่จำเป็น 

ที่อยู่อาศัย

      ลูกสุนัขต้องการความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย และความอบอุ่น ไม่ควรให้เค้าอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นหรือมีลมโกรกมากจนเกินไป ไม่ควรปรับเปลี่ยนสถานที่บ่อยครั้ง เพราะอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกสุนัขได้ สถานที่ทานอาหาร ก็ควรจัดให้อยู่ห่างจากสถานที่ขับถ่าย เพื่อความสะอาดและสุขอนามัยที่ดีของลูกสุนัข

อุปกรณ์ที่จำเป็น

ปลอกคอ และ สายจูง
ป้ายชื่อคล้องคอ
กรง
เบาะรองนอน / ผ้าห่ม
กระเป๋าสำหรับเคลื่อนย้าย
กระดาษรองขับถ่าย
ชามอาหาร
ชามน้ำ / จุกและขวดสำหรับดูดน้ำ
คู่มือการดูแลลูกสุนัข
 

การทำความสะอาด และ เสริมสวย

      การทำความสะอาดและการเสริมสวย นอกจากจะทำให้เจ้าตัวน้อยดูดีในสายตาคนอื่นแล้ว ยังเป็นการสร้างความสุขและสุขอนามัยที่ดีของเค้าด้วย สำหรับวันแรกที่รับลูกสุนัขเข้าบ้าน การทำความสะอาดด้วยการเช็ดตัวถือว่าเพียงพอแล้ว จากนั้นจึงค่อยเริ่มอาบน้ำให้เค้าในคราวถัดไป

การอาบน้ำ

      ในการอาบน้ำครั้งแรก ข้อที่ควรระวัง คือ การแพ้แชมพูอาบน้ำ ซึ่งจะสังเกตได้จาก อาการคัน ผื่นแดง หรือขนร่วง ดังนั้นเราจึงควรเริ่มใช้แชมพูในปริมาณน้อย และนำมาผสมกับน้ำเพื่อทำการเจือจางก่อนทุกครั้ง และเมื่ออาบน้ำเสร็จ อย่าลืมเป่าขนเค้าให้แห้งทุกส่วน เพื่อไม่ให้ผิวหนังชื้นจนเกินไป ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุของโรคผิวหนังได้

การแปรงขน

      สำหรับลูกสุนัขขนยาว เราควรแปรงขนวันละหลายๆครั้งเพื่อกระตุ้นต่อมไขมันใต้ผิวหนังมาชโลมขน ซึ่งจะช่วยให้ขนมีสุขภาพดี ส่วนลูกสุนัขขนสั้น การแปรงขนวันละครั้ง จะช่วยขจัดฝุ่นและความสกปรกที่ติดตัว ทำให้เค้าสบายตัว นอกจากนี้การแปรงขนยังเป็นการเพิ่มสัมพันธ์อันดีระหว่างเรากับเจ้าตัวน้อยอีกด้วย

การทำความสะอาดฟัน

      เมื่อเค้ายังเป็นลูกสุนัข เราควรฝึกการแปรงฟัน หรือเช็ดฟันให้เป็นเรื่องสนุกสำหรับเค้า โดยสามารถเริ่มจากการสอดนิ้วมือของเราในผ้าชุบน้ำหมาดๆ และเล่นกับเค้าภายในช่องปากตามฟันซี่ต่างๆ จากนั้นค่อยลองเปลี่ยนมาใช้แปรงสีฟันในภายหลัง

อุปกรณ์ที่จำเป็น

แชมพูอาบน้ำ
ผ้าเช็ดตัว
ไดร์เป่าผม
แปรงหวีขน
ยาสีฟัน และแปรงสีฟัน
อื่น เช่น กรรไกรเล็มขน กรรไกรตัดเล็บ ไม้พันสำลีเช็ดหู และน้ำยาเช็ดหู


การดูแลสุขภาพ

      เพราะว่าการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา การเตรียมความพร้อมเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในบางครั้งการเจ็บป่วยตั้งแต่เยาว์วัย อาจจะทำให้เป็นปัญหาทางสุขภาพที่เรื้อรังในอนาคตได้ สิ่งที่เราควรมีไว้ติดบ้านมีดังนี้

เบอร์โทรติดต่อสัตวแพทย์
อุปกรณ์และยาสามัญฉุกเฉิน เช่น ผ้าทำแผล ยาใส่แผล ผงถ่านคาร์บอนสำหรับดูดซับสารพิษ เป็นต้น
ยาสำหรับกำจัดเห็บ หมัด
ยาสำหรับป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจ
ยาถ่ายพยาธิ  


Step3 : พัฒนาการของลูกสุนัข

      ลูกสุนัขแต่ละสายพันธุ์มีพัฒนาการการเจริญเติบโตที่เหมือนกันตั้งแต่แรกเกิด จนถึงช่วงที่โตเต็มวัย การเรียนรู้พัฒนาการของเค้า ตามแต่ละช่วงอายุ จะทำให้เราเข้าใจความต้องของเค้า และสามารถเลี้ยงดูเค้าได้อย่างเหมาะสม  พฤติกรรมบางอย่างจำเป็นต้องใช้เวลาในการฝึกฝนและปรับตัว เรามาดูกันว่าเจ้าตัวน้อยของเรามีพัฒนาการในแต่ละช่วงอย่างไรบ้าง 

 

ช่วงแรกเกิด (0 – 2 สัปดาห์)

      ในช่วงแรกเกิดนี้ การมองเห็นและการได้ยินของลูกสุนัขจะยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ แต่เค้าจะไว ต่อการรับรู้พื้นฐานอื่นๆ เช่น การรับรส การดมกลิ่น การเคลื่อนไหว ความเจ็บปวด และความกดดันในช่วงนี้ลูกสุนัขจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอน แม่สุนัขจะช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ด้วยการเลียที่บริเวณทวาร และ อวัยวะเพศของลูกสุนัข 

ช่วงกำลังเติบโต ( 2 – 3 สัปดาห์)

      พัฒนาการการมองเห็นของลูกสุนัข จะค่อยๆเป็นไปอย่างสมบูรณ์ในช่วงนี้ การได้ยินของเค้า จะเริ่มตอบสนองต่อเสียงที่อาจจะทำให้ตื่นตกใจกลัว นอกจากนี้ลูกสุนัขจะสามารถเรียนรู้ พฤติกรรมการขับถ่ายของแม่ และเริ่มขับถ่ายได้เองโดยไม่ต้องถูกกระตุ้น ฟันน้ำนมของเค้าก็จะเริ่มขึ้นในช่วงนี้เช่นกัน

ช่วงการเข้าสังคม  ( 3-12 สัปดาห์ )

      พัฒนาการช่วงนี้เป็นช่วงที่มีความสำคัญต่อลูกสุนัขมากที่สุด เพราะเป็นพื้นฐานของการปรับเปลี่ยนด้านพฤติกรรมที่สำคัญ  ลูกสุนัขจะมีการเรียนรู้ทั้งกับสุนัขด้วยกันเอง กับคน และสิ่งต่างๆ ที่รายล้อมอยู่รอบตัว  รวมทั้งเรียนรู้พฤติกรรมการรวมกลุ่ม การเล่น  การต่อสู้ การจัดลำดับ และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยส่วนมากลูกสุนัขจะถูกแยกออกมาเลี้ยงในช่วงเวลานี้ เนื่องจากอยู่ในวัยที่สามารถเรียนรู้และปรับตัว และเป็นวัยหย่านม เนื่องจากฟันที่เริ่มขึ้นและปริมาณน้ำนมที่ลดลงของแม่สุนัข ลูกสุนัขจะเริ่มทานอาหารที่เป็นเนื้อแข็งได้ เห่า กระดิกหาง และวิ่งเล่นกับลูกสุนัขตัวอื่นๆได้ เค้าจะเริ่มเคลื่อนย้ายของด้วยปาก และเล่นกับสิ่งของหรือเจ้าของด้วยการกัดเบาๆ ความรวดเร็วของพัฒนาการทางสมองของลูกสุนัขจะเติบโตได้จาก สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายของของเล่นของเค้า เช่น ของเล่นที่มีเสียง ของเล่นที่ผิวสัมผัสที่หลากหลายนอกจากนี้ ช่วงเวลานี้ยังเป็นช่วงเวลาที่ดีในการฝึกนิสัยการขับถ่ายให้กับเค้าอีกด้วย

ช่วงวัยรุ่น( 3-6 เดือน)

      ช่วงนี้ร่างกายของเจ้าตัวน้อยมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เค้าจะเริ่มแปลงร่างเป็นนักสำรวจ จะเริ่มสำรวจสถานที่ใกล้เคียง หรือสถานที่ที่คุ้นเคย เค้าจะมีพฤติกรรมชอบเคี้ยว ชอบเล่น ซุกซน ติดเจ้าของ และเริ่มเรียนรู้ลำดับความสำคัญของสมาชิกในครอบครัว และยังทานมากขึ้นอีกด้วย วัยนี้เค้าจะชอบเอาอกเอาใจเจ้าของ ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะฝึกนิสัยให้เค้ามีมารยาทและพฤติกรรมที่ดี แต่อย่างไรก็ดี ไม่ควรมีการลงโทษที่รุนแรง และการทำร้ายร่างกายเพราะเหตุการณ์เหล่านี้ จะทำให้ลูกสุนัข ตกใจ หวาดระแวงและกลัว ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของพฤติกรรมที่ไม่ดี โดยเฉพาะการควบคุมทางอารมณ์ได้


ช่วงวัยเจริญพันธุ์ ( 6-12เดือน) 

      เป็นช่วงที่เค้ามีการเจริญเติบโตทางเพศอย่างเต็มที่ ลูกสุนัขเพศเมียเข้าสู่วัยที่พร้อมจะผสมพันธุ์ ส่วนลูกสุนัขเพศผู้จะมีระดับฮอร์โมนที่ค่อนข้างแปรปรวน เริ่มสร้างและหวงแหนเขตแดน เวลานี้จึงเป็นช่วงที่เหมาะสมหากเราต้องการจะทำหมันลูกสุนัข 

Step4 : โภชนาการ และการให้อาหารลูกสุนัข  

      หลังจากที่ลูกสุนัขหย่านม เราควรเริ่มให้อาหารเค้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดโอกาสการเกิดอาการท้องเสียจากอาหารไม่ย่อย การปรับตัวเข้ากับอาหารใหม่จึงมีความจำเป็นอย่างมาก เราควรฝึกให้เค้าได้เรียนรู้ปริมาณอาหารที่จะได้รับต่อวัน เวลาที่ทาน และช่วงความห่างของอาหารแต่ละมื้อ   

การเลือกชนิดของอาหาร

      ชนิดอาหารของลูกสุนัข มีทั้งแบบชนิดเม็ด ชนิดเปียกแบบกระป๋อง และชนิดเปียกแบบซอง ข้อดีของการให้อาหารชนิดเม็ดกับลูกสุนัข นอกจากที่จะช่วยให้เค้าได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนแล้ว ยังช่วยสร้างความเพลิดเพลินในการขบเคี้ยวอีกด้วย 
 

การให้อาหารและการเปลี่ยนอาหาร 

      ปริมาณอาหารที่ให้กับลูกสุนัขขึ้นอยู่กับความต้องการพลังงานในแต่ละวันของเค้า โดยพิจารณาได้จากน้ำหนักตัว และกิจกรรมที่ทำต่อวัน ลูกสุนัขที่ผอมเกินไป อาจจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณอาหารให้มากขึ้น ในทางกลับกัน หากลูกสุนัขอ้วนจนเกินไป อาจจำเป็นต้องปรับ ปริมาณอาหารให้ลดลง นอกจากนี้น้ำสะอาด ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ควรเตรียมไว้ตลอดเวลา ควรเปลี่ยนน้ำให้บ่อยครั้ง และควรตั้งในสถานที่ที่ลูกสุนัขสามารถเข้าถึงได้ง่าย การให้เค้าดื่มน้ำหลังจากที่ทำกิจกรรมร่วมกันกับเรา นอกจากจะช่วยให้เค้าหายเหนื่อยแล้ว ยังช่วยลดอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นภายในร่างกายอีกด้วย   

อาหารที่ควรระมัดระวัง

      ลูกสุนัขมักมีความอยากรู้อยากเห็น อยากลองทานอะไรหลายๆอย่าง จนบางครั้งเราอาจจะตามใจเค้าจนลืมไปว่าอาหารเหล่านั้นอาจเป็นอันตรายกับเค้าก็เป็นได้

อาหารที่ไม่ควรให้ลูกสุนัขทาน ได้แก่ 

ช็อคโกแลต หรืออาหารที่มีส่วนผสมของถั่ว Cacao ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตโกโก้ เพราะจะทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานหนักมากขึ้น และเกิดอาการชัก
หัวหอมและกระเทียม มีผลในการทำลายเม็ดเลือดแดง
ปลาดิบ ส่งผลต่อวิตามินบีในร่างกาย และลูกสุนัขอาจมีโอกาสติดพยาธิจากปลาอีกด้วย
ก้างปลาและกระดูก โดยเฉพาะกระดูกของสัตว์ปีก ซึ่งอาจจะแตกและทิ่มแทงอวัยวะภายในได้
อาหารที่มีรสหวานและเค็ม 
องุ่น และลูกพรุน ซึ่งมีผลกระทบต่อไตของลูกสุนัขโดยตรง
ชา กาแฟ และแอลกอฮอล์
 

ขอขอบคุณเนื้อหาจาก บริษัท Perfectcompanion

Powered by MakeWebEasy.com